HomeAbout |  PartnersNews UpdateKnowledge | Media & DownloadActivitiesVolunteersContact  
 
 
 
 
 
 
 

Workshop และสุนทรียศาสตร์ละครเยาวชนพลังบวก โดย เครือข่ายหน้ากากเปลือย
ณ อาคารหอจดหมายเหตุ ชั้น 2 เวทีสวนปฎิจจสมุปบาท
วันที่ 7 พฤษภาคม 2554 เวลา 13.00-17.00 น.

วัตถุประสงค์
มีการชี้แจงวัตถุประสงค์ทั้งในภาพรวม และวัตถุประสงค์รายกิจกรรมอย่างชัดเจน ว่าเป็นการทดลองฝึกปฏิบัติเพื่อให้เข้าใจละคร และให้สามารถสะท้อนตัวเราเองผ่านละครได้อย่างไร
 
หลักคิด/ แนวความคิดของกิจกรรม
ศิลปะย่อมสามารถช่วยพัฒนาจิตใจของเยาวชนได้ การให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้และลองปฏิบัติจริงเกี่ยวกับละคร ย่อมทำให้มีพัฒนาการ กล้าแสดงออก ซึ่งละครช่วยในการพัฒนาในทุกๆ ด้าน ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม
 
รูปแบบ/เนื้อหาหลัก
เป็นกิจกรรมแบบมีขั้นตอน และได้รับการออกแบบมาแล้วอย่างเป็นกระบวนการ โดยเริ่มต้นจากการปูพื้นฐานความรู้ให้เด็กและเยาวชนเข้าใจละคร ตั้งแต่ฐานคิด การลองใช้จินตนาการ การฝึกสมาธิ ไปจนถึงการสร้างและเล่นละครเอง
- เริ่มต้นให้แบ่งเป็น 3 กลุ่มแล้วให้เล่าประสบการณ์ที่ประทับใจของตัวเอง หลังจากนั้นก็ให้ตัวแทนกลุ่ม ๆ ละ 3 คน ออกมาเล่าเรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องเล่าของใครก็ได้ภายในกลุ่ม แล้วให้สมาชิกกลุ่มอื่นทายว่าเป็นเรื่องเล่าของใคร
- เข้าวงใหญ่และเริ่มต้นประเด็นว่าละครคืออะไร และให้กลุ่มใหญ่ช่วยกันสะท้อน
- มีการยืนเป็นวงกลมและเล่นเกมเพื่อละลายพฤติกรรม และสร้างความสนิทสนมภายในกลุ่ม ด้วยเกมต่าง ๆ ซึ่งเกมส่วนใหญ่เป็นเกมที่มุ่งให้เกิดสมาธิและการใช้ไหวพริบ เนื่องจากสมาธิเป็นเรื่องสำคัญของคนละคร แม้เสียงจากภายนอกจะดังขนาดไหนก็ต้องมีสมาธิ
- ให้แบ่งเป็น 6 กลุ่ม แล้วแจกหน้ากากให้กลุ่มละ 1 อัน โดยให้วางหน้ากากไว้ตรงกลางแล้วนั่งล้อมวง ให้มองที่หน้ากากแล้วทำสมาธิ โดยมีการเปิดเพลงบรรเลงเบา ๆ ประกอบเพื่อสร้างบรรยากาศ ผู้นำกิจกรรมบอกว่า หากใครอยากพูดอะไรกับหน้ากากก็ให้พูด เมื่อจะพูดต้องเอามือแตะที่หน้ากากด้วย และสุดท้ายหากอยากพูดก็ให้ยกหน้ากากขึ้นมาด้วย
- ต่อมาก็ให้แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ให้ช่วยกันสร้างละครและแสดงด้วยกัน โดยมีหน้ากากเป็นอุปกรณ์ร่วมที่ใช้ในการแสดง แล้วก็ให้ออกมาแสดงให้เพื่อน ๆ ดู และมีการสะท้อนจากกลุ่มอื่น ๆ ต่อละครแต่ละเรื่องด้วย
- มีการรวมตัวกันยืนเป็นวงกลมและเล่นเกมอีกครั้ง โดยเกมในรอบนี้จะเน้นเรื่องของการสื่อสารและการรับส่ง เพราะการสื่อสารให้ตรงจุดเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนละคร และเป็นการฝึกเวลาเล่นละครที่ต้องมีการรับส่งบทกัน
- โจทย์ต่อมาคือการจับคู่กัน 2 คน เป็นคู่หญิงชาย 1 คู่, คู่ชายชาย 1 คู่, และที่เหลือเป็นคู่หญิงหญิง เพื่อให้ไปซ้อมบทและมาแสดงให้เพื่อน ๆ ดู ในขั้นตอนนี้มีการเพิ่มดนตรีและบล็อกกิ้งทำให้ละครมีความสมบูรณ์มากขึ้น
- โจทย์สุดท้ายให้แบ่งเป็น 2 กลุ่ม โดยให้โจทย์ละครเหมือนกัน แล้วให้แสดง ซึ่งจะเห็นว่าแม้โจทย์เดียวกันแต่ทั้ง 2 กลุ่มก็ตีโจทย์ได้แตกต่างกัน
- จบกิจกรรม Workshop ด้วยการรวมกลุ่มทำสมาธิและทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดตลอดการทำ Workshop 4 ชั่วโมง
 
 
 
เครื่องมือ/กระบวนการนำเสนอ
มีวิทยากรนำกระบวนการ 1 คน พร้อมด้วยผู้ช่วยอีก 1 คน โดยเริ่มต้นโจทย์แรกเป็นการละลายพฤติกรรม หลังจากนั้นก็มีการแบ่งกลุ่ม เพื่อทำโจทย์ต่าง ๆ มีการแบ่งเป็น 2 กลุ่ม บ้าง 3 กลุ่มบ้าง เพื่อให้น้อง ๆ ได้เรียนรู้กระบวนการต่าง ๆ ของละครอย่างเป็นขั้นตอน
 
ผลที่เกิดขึ้น
 
มีความสนใจอย่างต่อเนื่อง มีส่วนร่วม แสดงความคิดเห็น ตั้งใจในการแสดง การลองปฏิบัติ อีกทั้งบรรยากาศก็สนุกสนานเป็นกันเองและเอื้อให้เกิดการเรียนรู้ จึงทำให้ลักษณะของ Workshop เอื้อต่อการถาม แสดงความคิดเห็นที่เกิดขึ้นตลอดเวลา โดยเริ่มต้นจากการค่อย ๆ ปรับพื้น สร้างความเข้าใจ มีการอธิบายประกอบการทำ จนเห็นพัฒนาการการแสดงออกของผู้เข้าร่วมเป็นลำดับ และลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง โดยมีพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำ สำหรับวิทยากร และผู้ช่วยวิทยากรมีความเป็นมืออาชีพ รวมทั้งกระบวนการได้ถูกออกแบบมาเป็นอย่างดี ทำให้กระบวนการ Workshop เป็นไปอย่างลื่นไหล และเห็นผลตามที่ออกแบบไว้ พร้อมทั้งมีบทบาทสำคัญที่เป็นผู้ให้กำลังใจแก่น้อง ๆ ที่เข้าร่วม Workshop แม้หลาย ๆ ครั้งสิ่งที่น้อง ๆ ทำอาจจะยังไม่ดีหรือมีความผิดพลาด สิ่งที่เกิดขึ้นคือทำให้ผู้เข้าร่วมได้กล้าคิดกล้าทำ กล้าลองผิดลองถูก มีการใช้กระบวนการกลุ่มเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนและให้กำลังใจกันภายในกลุ่มอีกด้วย
 
ข้อสังเกตเพิ่มเติม

ผู้เข้าร่วมเป็นเด็กและเยาวชนระดับมัธยมและอุดมศึกษาที่ลงทะเบียนมา จำนวนประมาณ 25 คน โดยเด็กและเยาวชนเหล่านี้ได้มีความตั้งใจในการทำ Workshop เห็นถึงพัฒนาการของการแสดงได้ชัด และบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ก็สนุกสนานด้วย ดังนั้นสิ่งที่สำคัญของการทำ Workshop ก็คือ การออกแบบกระบวนการ รวมทั้งตัววิทยากร และเวลาที่เหมาะสม Workshop นี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี

 
  Home  |  About |  Partners  |  News Update  |  Media & Download  |  Activities  |  Volunteers  |  Contact     
 
   
ติดต่อกองเลขานุการจัดงานมหกรรมพลังเยาวชน พลังสังคม ครั้งที่ 2
โทรศัพท์: 02-544-3991 | โทรสาร. 02-544-3896  |   Email: scbfteam@gmail.com