HomeAbout |  PartnersNews UpdateKnowledge | Media & DownloadActivitiesVolunteersContact  
 
 
 
 
 
 
 

“ศิลปะกับการพัฒนาเด็ก”
ณ อาคารหอจดหมายเหตุ ชั้น 3 ห้องประชุม 1
วันที่ 8 พฤษภาคม 2554 เวลา 10.00-12.00 น.

วัตถุประสงค์
ให้เด็กเรียนรู้ศิลปะด้วยธรรมชาติ ด้วยการสังเกตสี วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงหลังการใส่เกลือ การสร้างสรรค์ผลงานที่สร้างความภูมิใจให้กับน้อง และเกิดความรับผิดชอบร่วมกันหลังเลิกกิจกรรม
 
หลักคิด/ แนวความคิดของกิจกรรม
ใช้ศิลปะเพื่อการเรียนรู้และส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดี
 
รูปแบบ/เนื้อหาหลัก
รูปแบบการจัดกิจกรรมคือแบ่งกลุ่มตามความเหมาะสม แล้วจึงอธิบายถึงกิจกรรมแรก คือ การวาดรูปสีน้ำแล้วโรยเกลือ เป็นการให้แต่ละคนนำกระดาษที่ได้รับมาเลือกรูปการ์ตูนที่ตนเองชอบหรือตามจินตนาการ ร่างด้วยดินสอไม่เน้นเข้มมากนักแล้ววาดทับด้วยสีชอล์กที่ควรเป็นสีสว่างเพื่อตัดองค์ประกอบของภาพให้ชัดเจน ซึ่งจะช่วยไม่ให้สีน้ำแพร่มาส่วนที่เราต้องการ ก่อนจะใช้พู่กันระบายสีน้ำที่ได้มาจากสีผสมอาหาร ไม่มีอันตราย ก่อนจะบี้เกลือให้ละเอียดแล้วโรยเกลือลงบนชิ้นงาน เกลือมีคุณสมบัติในการซึมซับสีได้ดีจะทำให้ภาพสีน้ำมีความแตกต่างจากการระบายสีน้ำธรรมดา เกิดลวดลายที่ธรรมชาติ เมื่อเสร็จเรียบร้อยจึงนำไปเป่าให้แห้งก่อนจะเคาะเอาเกลือออกจากภาพ กิจกรรมที่สอง มีการแบ่งตามความสนใจคือ ถุงผ้าและตุ๊กตาหัวโต ถุงผ้าที่นำมาใช้เป็นถุงที่ทำจากผ้าดิบและให้แต่ละกลุ่มร่างภาพที่ตนเองสนใจก่อนจะใช้สีชอล์กน้ำมันวาดทับลงบนเนื้อผ้าเมื่อระบายสีเสร็จแล้ว เจ้าหน้าที่แนะนำว่าควรนำถุงผ้าไปรีดอีกครั้ง ส่วนตุ๊กตาหัวโตนั้นเริ่มต้นจากการวาดรูปที่เหมือนกันหน้าและหลังบนกระดาษที่เจ้าหน้าที่แจกให้ ระบายสีและใช้กรรไกรตัดส่วนนอกรอบตุ๊กตาก่อนจะยัดนุ่นใส่ในหัวตุ๊กตา แล้วติดกาวพร้อมกับเชือกห้อย
 
 
เครื่องมือ/กระบวนการนำเสนอ
ใช้ศิลปะเพื่อทำให้เกิดการเรียนรู้ด้วยวิธีธรรมชาติ เริ่มจากสังเกต เรียนรู้สี เรียนรู้ความแตกต่างของน้ำหนักที่ไล่ลงไปบนกระดาษ ใช้พลังความสร้างสรรค์ ก่อให้เกิดความอดทน ความพยายามที่จะดำเนินกิจกรรมจนบรรลุเป้าหมาย เมื่อกิจกรรมดำเนินเสร็จ เด็กๆ ได้เรียนรู้ความรับผิดชอบที่จะเก็บกวาดหลังพื้นที่กิจกรรม
 
ผลที่เกิดขึ้น
 
มีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก ประมาณ 30 คน เป็นนักเรียนโรงเรียนพระดาบส นักเรียนโรงเรียนสวน-หม่อนราชสีมา และนักเรียนโรงเรียนคลองใหญ่วิทยาคม ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสนุกสนานกับกิจกรรมเป็นอย่างมาก มีส่วนร่วมในการให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องการโรยเกลือ การเลือกตัวการ์ตูนที่จะวาด และถามสีต่างๆ ที่นำมาใช้ในกิจกรรม จากกิจกรรมทำให้เกิดประเด็นคำถาม จากการตั้งคำถามจากปัญหาที่เกิดขึ้นกับการทำกิจกรรมระบายสี เช่น วิธีการโรยเกลือ จะนำเกลือออกจากภาพได้อย่างไร สีชอล์กน้ำมันมีคุณสมบัติอย่างไร ซึ่งผู้ดำเนินกิจกรรมได้ตอบคำถามได้ตรงทุกประเด็น พร้อมกับชื่นชมผลงานของแต่ละคนโดยพูดว่า “สวยจัง” “น่ารักมาก” “ดีแล้ว” ซึ่งเป็นกำลังให้แก่ผู้เข้าร่วมและก่อให้เกิดความพึงพอใจกับคำชมเหล่านั้นอีกด้วย
 
ข้อสังเกตเพิ่มเติม

การทำ Workshop งานศิลปะในกิจกรรมนี้ ภาพรวมของกิจกรรมศิลปะเพื่อพัฒนาเด็กยังไม่ชัดเจนนัก เนื่องจากเน้นให้เด็กได้สร้างสรรค์ผลงานของตน โดยไม่ได้สอดแทรกเนื้อหา หรือแนวคิดหลักของกิจกรรมที่เกิดขึ้น จึงทำให้เด็กและเยาวชนเพลิดเพลินกับการสร้างสรรค์ผลงานของตนมากกว่าทราบว่ากิจกรรมที่ตนทำนั้นได้ก่อให้เกิด ประโยชน์และพัฒนาตนเองอย่างไรบ้าง

 
  Home  |  About |  Partners  |  News Update  |  Media & Download  |  Activities  |  Volunteers  |  Contact     
 
   
ติดต่อกองเลขานุการจัดงานมหกรรมพลังเยาวชน พลังสังคม ครั้งที่ 2
โทรศัพท์: 02-544-3991 | โทรสาร. 02-544-3896  |   Email: scbfteam@gmail.com