เสวนา “สภาเด็กกับการพัฒนาเด็ก”
กลุ่มสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดเชียงใหม่  จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดตรัง และจังหวัดนนทบุรี

สถานที่ อาคารหอจดหมายเหตุ ชั้น 2 เวทีสวนปฏิจจสมุปทาน
วันที่ 7 พฤษภาคม 2554 เวลา 09.00-11.00 น.

 
วัตถุประสงค์
เพื่อบอกเล่าประสบการณ์การทำงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ของตัวแทนสภาเด็กและเยาวชนจากพื้นที่ต่างๆ ซึ่งจะเป็นการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับเทคนิค วิธีการการทำงานในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เป็นบทเรียนและแรงบันดาลใจแก่เด็กและเยาวชนคนอื่นๆ
 

หลักคิด/ แนวความคิดของกิจกรรม

สภาเด็กคือพื้นที่การทำงานของเด็กที่จะมีส่วนในการพัฒนาและดูแลสังคม ชุมชนที่ตนอยู่อาศัย การเปิดเวทีเสวนาจึงเป็นพื้นที่ของการแสดงออกทางความคิด บทเรียน ประสบการณ์ เป็นการเปิดโอกาสในการเรียนรู้ร่วมกันของเด็กและเยาวชนที่ทำงานเกี่ยวกับสภาเด็ก เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นของตน

 
เครื่องมือ/กระบวนการนำเสนอ

รูปแบบของการจัดกิจกรรมเป็นการจัดเสวนา โดยมีพิธีกรเป็นผู้ดำเนินรายการ เริ่มจากการแนะนำตัวตัวแทนจากสภาเด็กทั้ง 4 จังหวัด สภาเด็กจังหวัดเชียงใหม่  จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดตรัง และจังหวัดนนทบุรี ตัวแทนเหล่านี้เป็นเยาวชนที่ทำงานในสภาเด็กและถือเป็นต้นแบบในการทำงานให้กับรุ่นน้องๆ จากนั้นพิธีกรก็มีการตั้งคำถามให้แต่ละคนได้ร่วมแลกเปลี่ยน แสดงความคิดเห็นตามบริบทพื้นที่การทำงานของแต่ละจังหวัด ซึ่งในตอนท้ายพิธีกรจะสรุปคำตอบในแต่ละประเด็น และเปิดโอกาสให้มีการตั้งคำถามจากผู้ที่เข้าร่วมการเสวนา เพื่อตอบข้อสงสัยและสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วม

การจัดเสวนาที่เกิดนั้น เครื่องมือที่ถูกนำมาใช้เป็นกระบวนการนำเสนอคือ เรื่องราว การบอกเล่าประสบการณ์ของตัวแทนแต่ละสภาเด็ก  ผ่านการตั้งคำถามจากพิธีกรและผู้เข้าร่วม ซึ่งเป็นเครื่องมือที่นำไปสู่การเปิดประตูสู่เรื่องราวที่อยู่ภายในและเป็นโอกาสของการเปิดพื้นที่ร่วมกันในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จากประสบการณ์การทำงานของตัวแทนสภาเด็กที่นำมาเสนอ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างแรงบันดาลใจและบทเรียนแก่ผู้ที่เข้าร่วมการฟังเสวนา

 
ผลที่เกิดขึ้น

ผู้ร่วมกิจกรรมมีประมาณ 20-30 คน ลักษณะของผู้เข้าร่วมนั้นจะเป็นเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นกลุ่มเพื่อนที่คุ้นเคยจากสภาเด็กที่มาด้วยกัน ตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่สภาเด็กและเยาวชนมุ่งหวังในการสื่อสาร
ด้านความสนใจโดยภาพรวมนั้นผู้เข้าร่วมมีความตั้งใจฟังเป็นอย่างดีกระทั่งจบการเสวนา แม้ในบางช่วงจะมีฝนตก แต่ก็ไม่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมคนใดจะลุกออกจากที่นั่ง รายการได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้ตั้งคำถามเพื่อให้เกิดบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การนำเสนอความคิด ประสบการณ์ของตัวแทนสภาเด็ก การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ การทำงานของตน มีการตั้งคำถามต่างๆ จากพิธีกร มีการให้กำลังใจหรือการเชิดชูกลุ่มเป้าหมายเป็นการปรบมือให้กำลังใจ จากผู้เข้าร่วมฟังเสวนา รวมถึงการพูดชื่นชมให้กำลังใจจากพิธีกรที่ดำเนินรายการ

ในส่วนโอกาสในการซักถามจากผู้เข้าร่วมจะเกิดในช่วงท้ายๆ ของการเสวนา ซึ่งการถามคำถามอาจจะมีจำนวนไม่มาก เนื่องจากเงื่อนไขของระยะเวลาที่เหลือและผู้ตอบจะตอบคำถามในลักษณะของการบอกเล่าประสบการณ์ ทำให้ต้องใช้เวลาในการตอบคำถาม โดยภาพรวมของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จึงไม่อาจแสดงออกได้จากการตั้งคำถามร่วมจากผู้เข้าร่วมฟังเสวนา
 
ข้อสังเกตเพิ่มเติม

พื้นที่ของการทำงานสภาเด็กในปัจจุบันอาจเป็นเพียงพื้นที่เฉพาะของเด็กและเยาวชนที่สนใจการทำงานที่มีลักษณะและรูปแบบของสภา ใช้กระบวนการประชาธิปไตยตามระบอบการเมือง ซึ่งจะมีสัมพันธ์กับการใช้งบประมาณ การจัดกิจกรรม การทำโครงการต่างๆ หากแต่กิจกรรมที่จะสร้างความยั่งยืนในแง่ของการพัฒนาสังคม พัฒนาชุมชนที่เป็นระบบและเครือข่าย ยังไม่ค่อยปรากฏชัดในปัจจุบัน พื้นที่การทำงานของสภาเด็กและเยาวชนจึงต้องการการสนับสนุนจากผู้ใหญ่หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากกว่าเงินงบประมาณ แต่ต้องเป็นการหนุนเสริมส่วนของงานวิชาการ แนวคิดที่จะช่วยให้กิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นมีความยั่งยืนมากกว่าการฝึกเขียนโครงการทำกิจกรรมที่จะตอบสนองความต้องการเฉพาะตนในบางช่วงเวลาเท่านั้น

 
 
  Home  |  About |  Partners  |  News Update | Knowledge |  Media & Download  |  Activities  |  Volunteers  |  Contact     
 
   
ติดต่อกองเลขานุการจัดงานมหกรรมพลังเยาวชน พลังสังคม ครั้งที่ 2
โทรศัพท์: 02-544-3991 | โทรสาร. 02-544-3896  |   Email: scbfteam@gmail.com