HomeAbout |  PartnersNews UpdateKnowledge | Media & DownloadActivitiesVolunteersContact  
 
 
 
 
 
 
 

Workshop basic B-Boy โดย กลุ่มบี-บอยเท้าไฟใจดี
Outdoor เวทีบี-บอย
วันที่ 6 พฤษภาคม 2554 เวลา 10.00 – 12.00 น.

วัตถุประสงค์
เพื่อให้เยาวชนมาออกกำลังกายและใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ โดยเริ่มต้นจากการเล่น B-Boy ขั้นพื้นฐาน
 
หลักคิด/ แนวความคิดของกิจกรรม
แนวคิดของกิจกรรมเพื่อให้เห็นถึงความสนุกสนาน ความสร้างสรรค์ ท่าเต้นที่เป็นเอกลักษณ์เน้นการตอบสนองสิ่งเร้าที่มีอยู่ในตัววัยรุ่นให้ออกมาใช้ท่า B-Boy เพื่อสร้างพื้นที่ในสังคมให้เกิดการยอมรับ
 
รูปแบบ/เนื้อหาหลัก
รูปแบบการจัดกิจกรรมเริ่มจากอธิบายรูปแบบกิจกรรมเพื่อการสอนท่าขั้นพื้นฐานของ B-Boy ประวัติความเป็นมาของ B-Boy การเตรียมพร้อมร่างกาย ซึ่ง B ในที่นี้หมายถึง Breaking การเรียกชื่อจะแตกต่างกันหากเป็นหญิงเรียก B-Girl เป็นชาย เรียก B-Boy การเต้นลักษณะนี้เกิดจากงานปาร์ตี้ที่เรียกว่า Break Dance อาศัยเสียงเพลงในการปลดปล่อยอารมณ์ของวัยรุ่นในยุคนั้น ซึ่งเริ่มจากการเต้นท่า Pop Blog ก่อนจะพัฒนาเป็น ท่าFootwork ท่าFinish ท่าPower move ตามลำดับ ซึ่งจากสี่ท่าพื้นฐานนี้สามารถแตกแขนงได้เป็นมากมายตามที่คนเต้นประยุกต์จากสิ่งที่เขาเห็นหรือมีอยู่ในธรรมชาติ เช่น ท่า Indian Step ที่นำมาจากท่าเต้นของชนเผ่าอินเดียนแดงมาประยุกต์เป็นท่าเดินก่อนจะbattle เมื่อสอนทั้งสี่ท่าพื้นฐานเสร็จจึงให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมฝึกแต่ละท่าให้สำเร็จก่อนจะแสดงให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมด้วยกันรับชม ส่วนหนึ่งของผู้เข้าร่วมกิจกรรมเองมีประสบการณ์การเต้น B-Boy มาก่อนจึงทำให้ดูการแสดงร่วมกันสนุกสนานเป็นอย่างยิ่ง
 
 
เครื่องมือ/กระบวนการนำเสนอ
การใช้ศิลปะอย่างการเต้น B-Boy เพื่อสร้างพื้นที่การปลดปล่อยอารมณ์ของวัยรุ่น เกิดความสนุก เกิดสังคม ที่ใช้คุณสมบัติของวัยรุ่น ที่ต้องการความเป็นอิสระ ต้องการการยอมรับ การเป็นผู้นำ มีพลังความคิดสร้างสรรค์ เป็นวัยที่ค้นหาบุคลิกของตนเองมาออกเป็นกิจกรรมสร้างสรรค์ค์ จึงเป็นกิจกรรมที่จูงใจเยาวชนให้มีส่วนร่วมได้เป็นอย่างดี
 
ผลที่เกิดขึ้น
 
ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นเยาวชนที่มาร่วมกิจกรรม Workshop โดยตรง ประมาณ 20 คน ส่วนหนึ่งเป็นผู้ที่เคยฝึกการเต้นบี-บอยมาก่อน และส่วนหนึ่งที่นั่งชมอยู่รอบๆ เวที มีการร่วมกิจกรรมอย่างตั้งใจและช่วยสร้างสีสันให้กิจกรรม Workshop เป็นอย่างมาก เช่น ช่วยปรบมือ ส่งเสียงเป็นกำลังใจให้คนที่กำลัง Workshop รวมทั้งหลังจากที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมแต่ละคนแสดงท่าเต้น จะมีเสียงชื่นชมเป็นระยะๆ “ดีแล้ว” “เก่งมาก” “พยายามเข้า” “โอ้...ท่านี้ใช่ได้เลย” หากมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่เต้นผิด ผู้นำกิจกรรมจะมีการให้กำลังใจและปลอบใจ เพื่อทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีกำลังใจและมีความอดทน ไม่ท้อแท้ แล้วสนุกไปกับกิจกรรม ในช่วงระหว่างการดำเนินกิจกรรมมีการซักถามแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากผู้เข้าร่วมกิจกรรมตลอดเวลาเกี่ยวกับปัญหาเรื่องท่าเต้น ซึ่งการตั้งคำถามที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่นั้นเป็นการตั้งคำถามเพื่อสอบถามความเข้าใจต่อกิจกรรมของกลุ่ม B-Boy จากวิทยากร รวมทั้งแสดงความคิดเห็นต่อท่าเต้นของผู้ร่วมกิจกรรมที่นำมาแสดง ซึ่งแตกต่างและเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละคน เปิดโอกาสในการซักถามและร่วมพูดคุยระหว่างผู้เข้าร่วมกิจกรรมและผู้นำกิจกรรมตลอดเวลา ซึ่งมีคำถามเกิดขึ้นในช่วงการทำกิจกรรมนี้ประมาณ 20-25 คำถาม ล้วนแล้วแต่เป็นคำถามที่เกี่ยวกับท่าเต้นที่เคยเห็นในสื่อต่างๆ เช่น โทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต และหนังสือพิมพ์ เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีคำถามเกี่ยวกับการฝึกกล้ามเนื้อเพื่อให้พร้อมกับการเต้นท่าต่างๆ และความอันตรายของท่าต่างๆ ที่จะทำให้เกิดอาการบาดเจ็บหากเต้นผิดวิธี รวมทั้งเทคนิคการใช้แขนและขาที่ถูกต้องในแต่ละท่า ซึ่งผู้ดำเนินกิจกรรมมีการแสดงท่าทางที่ถูกต้องและท่าทางที่ผิดเพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมร่วมกันสังเกต
 
ข้อสังเกตเพิ่มเติม



1) ที่ตั้งของเวทีบี-บอย อยู่ห่างไกลจากศูนย์รวมของงาน รวมถึงลักษณะของที่นั่งชมทำให้ลักษณะของเวทีเสมือนเป็นสถานที่ปิด เด็กผู้หญิงไม่กล้าเข้าไปนั่ง

2) ลักษณะของเวทีบี-บอย ซึ่งทำด้วยไม้และมีการตียกระดับขึ้นจากพื้นพื้นคอนกรีตและปูทับด้วยผ้าไวนิลและsticker มีความปลอดภัยค่อนข้างน้อย ควรมี gicsaw หรือแผ่นยางที่ใช้สำหรับในการฝึกซ้อมยิมนาสติกมาปูเพื่อลดความเสี่ยงจากอันตรายของท่าเต้น และนอกจากลักษณะของเวทีที่ขาดความปลอดภัยแล้ว ในบริเวณเวทียังขาดผู้ควบคุมที่ดูแลเรื่องความปลอดภัยโดยเฉพาะของผู้เต้นอีกด้วย

3) เวทีบี-บอยนั้น ถือได้ว่าเป็นเวทีที่ได้รับความสนใจจากเด็กและเยาวชนอย่างมาก เนื่องจากการแสดงการเต้นบี-บอยนั้น เป็นศิลปะที่วัยรุ่นเข้าถึงได้ง่าย เป็นเสมือนสิ่งเร้าที่ทำให้คนสนใจออกกำลังกายได้ง่ายที่สุด รวมทั้งเป็นพื้นที่ที่ให้วัยรุ่นมาปลดปล่อยอารมณ์ พลังสร้างสรรค์ และเป็นที่ยอมรับในกลุ่มเพื่อนอีกด้วย

 
  Home  |  About |  Partners  |  News Update  |  Media & Download  |  Activities  |  Volunteers  |  Contact     
 
   
ติดต่อกองเลขานุการจัดงานมหกรรมพลังเยาวชน พลังสังคม ครั้งที่ 2
โทรศัพท์: 02-544-3991 | โทรสาร. 02-544-3896  |   Email: scbfteam@gmail.com